ไขข้อสงสัย! ภาวะตาปรือเกิดจากอะไร แนะนำวิธีแก้ตาปรือที่ได้ผล

ตาปรือ

หากคุณมีอาการตาปรือ ตาปรือข้างเดียว หรือตาปรือง่วงนอนตลอดเวลา หรือบางคนอาจมีอาการที่หนังตาหย่อนลงมาปิดตาดำมากเกินกว่าปกติจนบดบังทัศนวิสัย คุณอาจกำลังเผชิญกับปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงอยู่ก็เป็นได้ นอกจากจะส่งผลในด้านความสวยงามแล้ว ยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย ในบทความนี้ทาง Medmetic จะพาทุกคนมาไขข้อสงสัยกันค่ะว่า ภาวะตาปรือคืออะไร ตาปรือเกิดจากอะไร วิธีสังเกตอาการตาปรือ รวมถึงแนะนำวิธีแก้ตาปรือที่ได้ผล ถ้าพร้อมแล้วเรามาศึกษาไปพร้อม ๆ กันเลย

ตาปรือ คือ

ตาปรือ คือ ลักษณะอาการที่หนังตาตกลงมา หรือเปลือกตาบนตกลงมาต่ำกว่าปกติ โดยอาจตกลงมาเล็กน้อยหรือตกลงมาจนปิดรูม่านตา ปกคลุมตาดำ ทำให้ดวงตาดูเล็กลง เห็นตาดำลดลง ดูไม่สดใส ดูคล้ายเหมือนคนที่อ่อนเพลีย เหนื่อย หรือง่วงนอนตลอดเวลาค่ะ ในบางคนอาจประสบปัญหาตาปรือข้างเดียวจนทำให้ตาดูไม่เท่ากัน ซึ่งปัญหาตาปรือนี้คล้ายคลึงกับภาวะ กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง อาจส่งผลให้ลืมตาไม่ค่อยได้ รู้สึกหนักตาจนกระทบการมองเห็นได้ค่ะ

โดยอาการตาปรือ หรือปัญหาหนังตาตกสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ หนังตาตก (Ptosis) และ ผิวหนังที่เปลือกตาหย่อน (Dermatochalasis)

  1. หนังตาตก (Ptosis) จะมีลักษณะที่เปลือกตาลงมาบังลูกตาดำ มักเกิดจากกล้ามเนื้อเปลือกตาทำงานน้อยกว่าปกติ สามารถพบร่วมกับผิวหนังที่เปลือกตาหย่อนได้
  2. ผิวหนังที่เปลือกตาหย่อน (Dermatochalasis) จะมีลักษณะที่ขอบเปลือกตาอยู่ในตำแหน่งปกติ แต่ผิวหนังเปลือกตามีอาการหย่อนลงมาบังลูกตา สามารถพบบ่อยในผู้ที่ขยี้ตาบ่อย ๆ โดนแดด หรือการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบตา โดยปัญหานี้จะสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุ

อาการ “ตาปรือ” เกิดจากอะไร ?

ตาปรือเกิดจากการหย่อนของหนังตาบนที่มากกว่าปกติ อาจมาจากกล้ามเนื้อตาที่อ่อนแรงที่ส่งผลให้ดูตาปรือ ซึ่งอาการตาปรือนี้อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง หรืออายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้ค่ะ

1. ตาปรือที่เกิดจากพันธุกรรม

ตาปรือพันธุกรรม

ตาปรือหรือหนังตาตกที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม จะมีขอบเปลือกตาตกลงมาต่ำกว่าปกติตั้งแต่กำเนิด ส่วนใหญ่เกิดจากการที่กล้ามเนื้อยกเปลือกตามีพัฒนาการได้ไม่ดีเท่าที่ควรจนกลายเป็นเนื้อเยื่อพังผืดค่ะ ทำให้การทำงานของเปลือกตาแย่ลง โดยจะมีอาการหนังตาตกข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ลืมตาได้ไม่เต็มที่ซึ่งอาจส่งผลต่อการมองเห็น

2. ตาปรือที่เกิดจากอายุที่มากขึ้น

ตาปรือ อายุเพิ่มมากขึ้น

เมื่ออายุมากขึ้นหนังตาหรือเปลือกตาจะค่อย ๆ หย่อนคล้อยลง ทำให้รู้สึกว่าตาปรือ ง่วงอยู่ตลอดเวลา สำหรับตาปรือที่เกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นมักพบบ่อยอยู่ 2 ปัญหาคือ ปัญหาหนังตาหย่อนและเปลือกตาตก ดังนี้

  • ปัญหาหนังตาหย่อน เนื่องจากหนังตามีความยืดหยุ่นตามอายุที่มากขึ้น ทำให้หนังตาเริ่มหย่อนคล้อยตกลงมา ตาดูหรี่เล็กลง สำหรับคนที่มีตาชั้นเดียวและมีการสะสมของไขมันใต้ชั้นหนังตามากสามารถทำให้ชั้นหนังตาหย่อนลงได้ สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดเปลือกตา โดยจะทำการตัดบริเวณหนังตาที่หย่อนออก สามารถทำร่วมกับผ่าตัดทำตาสองชั้นได้
  • เปลือกตาตก พบบ่อยในอายุที่เพิ่มมากขึ้น เกิดจากกล้ามเนื้อมีอาการอ่อนแรงลงสามารถทำให้เกิดภาวะเปลือกตาตกได้ โดยเปลือกตาจะตกลงมาบังตาดำจนดูคล้ายกับคนตาปรือ สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดเช่นเดียวกันค่ะ แต่จะมีวิธีการผ่าตัดที่แตกต่างจากปัญหาหนังตาหย่อน ซึ่งการผ่าตัดแก้ไขเปลือกตาตกมักจะแก้ไขด้วยการผ่าตัดชั้นกล้ามเนื้อตาตามความรุนแรงของอาการ

3. ตาปรือที่เกิดจากพฤติกรรมบางอย่าง

ตาปรือ เกิดจาก

พฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันสามารถส่งผลให้เกิดภาวะตาปรือได้ เช่น การใช้สายตามากจนเกินไปจนกล้ามเนื้อตาอ่อนล้า ขยี้ตาบ่อย ๆ หรือใส่คอนแทคเลนส์หลาย ๆ ปีติดต่อกัน สามารถรักษาได้ด้วยการแก้ไขที่ต้นเหตุได้ เช่น ลดการใช้สายตา ลดการขยี้ตาบ่อย ๆ หรือจะใช้วิธีผ่าตัดกล้ามเนื้อตาก็สามารถทำได้เช่นกัน

ระดับของอาการตาปรือ

  1. กล้ามเนื้อตาปกติ เปลือกตาบนคลุมลูกตาดำไม่เกิน 1 มิลลิเมตร
  2. ตาปรือในระดับแรก เปลือกตาบนปิดคลุมลูกตาดำเกิน 2 มิลลิเมตร ไม่สดใส
  3. ตาปรือในระดับปานกลาง เปลือกตาบนปิดคลุมลูกตาดำเกิน 3 มิลลิเมตร ทำให้ดูตาปรือ ง่วงนอน
  4. ตาปรือในดับรุนแรง เปลือกตาบนปิดคลุมลูกตาดำเดิน 4 มิลลิเมตรขึ้นไป ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะสามารถส่งผลต่อการมองเห็น

สังเกตอาการตาปรือได้ด้วยตนเอง

ตาปรือ อาการเป็นอย่างไรบ้าง? วิธีสังเกตอาการตาปรือด้วยตนเองสามารถปฏิบัติได้ดังนี้ค่ะ

  • หนังตาตก
  • ลืมตาไม่เต็มที่ ดวงตาไม่เบิกกว้าง
  • กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงข้างเดียว ทำให้ลูกตาดำทั้งสองข้างดูไม่เท่ากัน
  • พยายามเลิกหน้าผาก หรือเลิกคิ้วเพื่อช่วยในการลืมตา
  • ความสามารถในการมองเห็นลดลง
  • มีชั้นตาซ้อนกันหลายชั้น
  • เบ้าตาลึกกว่าปกติ เนื่องจากไขมันใต้เปลือกตาหายจนทำให้ตาดูโหล คล้ายคนง่วงนอน

ทั้งนี้หากพบว่าตนเองมีอาการตาปรือควรเข้าพบแพทย์เพื่อให้แพทย์พิจารณาร่วมด้วย

อาการตาปรือส่งผลเสียอะไรบ้าง

อาการตาปรือสามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็น สูญเสียความมั่นใจในการใช้ชีวิต ตาดูไม่สดใส เสียบุคลิกภาพ ในบางคนมีปัญหาหนังตาที่ตกลงมาทำให้ส่งผลเสียต่อการมองเห็นอีกด้วย นอกจากนี้อาการตาปรือยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในอีกหลายด้าน ดังนี้

  • มีปัญหาตาดูไม่เท่ากัน หากมีตาปรือข้างใดข้างหนึ่ง
  • สามารถทำให้เกิดริ้วรอยบนหน้าผากได้ เนื่องจากต้องใช้กล้ามเนื้อในการลืมตา
  • ทำให้ดูแก่กว่าวัย ดูง่วงนอน ไม่สดใส ส่งผลต่อบุคลิกภาพ
  • บดบังวิสัยทัศน์การมองเห็น เนื่องจากหนังตาที่ตกลงมาบดบังดวงตา
  • มีปัญหาแต่งหน้าค่อนข้างยาก เนื่องจากชั้นตาไม่เท่ากัน[a]

แก้อาการตาปรือด้วยการทำตาสองชั้น

วิธีแก้ตาปรือ

ตาปรือแก้ไขยังไง? วิธีแก้ตาปรือที่ได้ผล และไม่เป็นอันตรายในปัจจุบันสามารถแก้ไขได้ด้วยการทำร่วมกับการศัลยกรรมตาสองชั้น หรือแก้ไขปัญหาตาปรือด้วยการศัลยกรรมตาสองชั้นนั่นเองค่ะ โดยการผ่าตัดแก้ไขปัญหาตาปรือนั้นจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหา ทั้งปัญหาระดับตาปรือว่ามาก-น้อยแค่ไหน รวมถึงกำลังของกล้ามเนื้อตาที่เหลืออยู่ เพราะถ้าหากว่าทำตาสองชั้นในคนที่ยังมีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงอยู่อาจทำให้ตาตกเพิ่มขึ้น ชั้นตาไม่เท่ากันได้ค่ะ

ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องตรวจดูภาวะโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หรือปัญหาบริเวณกล้ามเนื้อตาก่อน หากพบว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงสามารถแก้ไขปัญหานี้ไปพร้อมกับการทำตาสองชั้นได้ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขเป็นไปอย่างตรงจุดมากขึ้น ดวงตาดูกลมโตขึ้น มีขนาดชั้นตาที่พอดี

โดยการผ่าตัดทำตาสองชั้นจะเป็นการผ่าตัดสร้างชั้นตาให้รับกับดวงตา ซึ่งการทำตาสองชั้นนี้มีหลายเทคนิคที่จะช่วยแก้ปัญหาตาปรือ เช่น

  • เทคนิคเปิดหัวตา[b]หรือหางตา เหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาหนังตาบริเวณหัวตาเยอะ ดวงตาปรือจากหนังตาบนหย่อนลงมาปิดหัวตา ตาดูไม่กลมโต หรือดวงตาสองข้างห่างมาก ซึ่งเทคนิคนี้จะต้องเปิดหัวตาหรือหางตาเพื่อให้ตาสองชั้นที่ดูกลมโตและกว้างขึ้น เมื่อแพทย์ทำการตัดแต่งหนังตาเสร็จแล้วจะทำการเย็บปิดแผล ผลลัพธ์ที่ได้จะช่วยให้ดวงตาดูกลมโต เรียวยาวขึ้น
  • เทคนิคกรีดชั้นหนังตา จะช่วยแก้ปัญหาคนที่มีตาชั้นเดียวหรือชั้นตาไม่ชัด ชั้นตาไม่เท่ากัน ตาสองชั้นหลบใน[c] รวมถึงคนที่มีไขมันสะสมที่เปลือกตามาก เพราะแพทย์สามารถนำไขมันส่วนเกินบริเวณเปลือกตาออกไปได้ โดยแพทย์จะกรีดเปิดหนังตาบนตั้งแต่หัวตาไปจนถึงหางตา ซึ่งตำแหน่งของรอยกรีดจะเป็นตำแหน่งของชั้นตาใหม่ เทคนิคนี้จะช่วยลดโอกาสการเกิดหนังตาที่หางตาตกได้

ทั้งนี้การทำตาสองชั้น และการแก้ไขปัญหาตาปรือหรือภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง จะเป็นการแก้ไขปัญหาคนละจุดกัน แต่นิยมทำร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาตาปรือ ตกแต่งชั้นหนังตาให้ดูชัดเจน เพิ่มความกลมโตของลูกตา

ข้อดีของการแก้ตาปรือด้วยการศัลยกรรม

แก้ตาปรือ
  • ช่วยให้ลืมตาได้มากขึ้น ไม่บดบังวิสัยทัศน์ เพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น
  • ช่วยปรับรูปหน้าให้ตาดูสมส่วนกันมากขึ้น ตาดูกลมโตและสดใส
  • ช่วยลดการเกิดริ้วรอยหน้าผาก เนื่องจากไม่ต้องเลิกหน้าผากเพื่อเบิกดวงตาให้กว้าง
  • แก้ปัญหาตาปรือ ทำให้ดูไม่แก่ก่อนวัยอันควร
  • เสริมสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น

วิธีดูแลตัวเองหลังแก้ตาปรือด้วยการทำตาสองชั้น

การดูแลตนเองที่ดีหลังแก้ไขอาการตาปรือด้วยการทำตาสองชั้น จะช่วยป้องกันไม่ให้แผลเกิดการติดเชื้อ หายบวมไว พร้อมกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้รวดเร็วขึ้น โดยข้อควรปฏิบัติในการดูแลตนเองมีดังนี้ค่ะ

  • ในขั้นตอนการทำความสะอาดแผล ควรใช้สำลีก้านชุบน้ำอุ่นสะอาด หรือน้ำเกลือเช็ดอย่างเบามือบริเวณแผล จากนั้นจึงค่อยทาครีม ขี้ผึ้ง หรือยาตามที่แพทย์สั่ง
  • หลังจากผ่าตัดครบ 24 ชั่วโมง สามารถใช้ขี้ผึ้งทาเบา ๆ บริเวณแผลด้วยไม้พันสำลี จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
  • ควรประคบเย็นอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 3 วันหลังจากการผ่าตัด เพื่อช่วยลดอาการบวมช้ำ ยับยั้งไม่ให้เส้นเลือดฝอยมีเลือดออก
  • หากพบว่ามีเลือดซึมบริเวณรอยแผลที่ตา สามารถใช้ผ้าก๊อซปิดแผลเอาไว้จนกว่าเลือดจะหยุดได้
  • ในบางรายที่มีอาการปวดบริเวณแผล สามารถรับประทานยาลดปวด และแก้อักเสบตามที่แพทย์จัดไว้ให้ได้
  • สามารถใช้ที่ครอบตาเพื่อป้องกันการเกา แกะ แคะ หรือขยี้ตาบริเวณแผลได้
  • หลีกเลี่ยงการไอ จามอย่างรุนแรง รวมถึงก้มศีรษะต่ำเพื่อป้องกันไม่ให้แผลปริหรือเลือดออก
  • ในช่วง 2-3 วันแรก ควรนอนหมอนสูงเพื่อลดอาการบวมของเปลือกตา
  • ในช่วงแรกของการผ่าตัดควรสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันแสงแดดและฝุ่นละออง
  • สามารถประคบอุ่นได้ในวันที่ 6 หลังจากผ่าตัด โดยประคบครั้งละ 10 นาที เช้า-เย็น ติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ลดอาการอักเสบ หรือบวมช้ำ
  • หลีกเลี่ยงการใช้สายตา เช่น จ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มากจนเกินไป เป็นต้น
  • ไม่ควรให้แผลโดนน้ำหลังจากผ่าตัดเสร็จไปจนถึงหลังตัดไหม 3 วัน เพราะแผลสามารถเสี่ยงติดเชื้อได้
  • ควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์ ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังทำตาสองชั้น เพื่อลดความเสี่ยงในการโดนแผลผ่าตัด
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสามารถทำให้แผลหายช้าหรือหายไม่สนิทได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ต่อการไหลเวียนของเลือด
  • รับประทานยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

คำถามที่พบบ่อย

1. ทำไมตาง่วงตลอดเวลา

ปัญหาตาปรือตลอดเวลา หรือตาง่วงนอนตลอดเวลาอาจเกิดมาจากภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หรือปัญหาหนังตาตกได้ โดยเกิดจากการยืดของกล้ามเนื้อตา ทำให้กล้ามเนื้อตาทำงานไม่เต็มที่ไม่สามารถพยุงหนังตาได้ หนังตาจึงหย่อนลงมา ส่งผลให้ตามีลักษณะดูง่วงนอนตลอดเวลานั่นเองค่ะ

2. กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเป็นยังไง

โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ocular Myasthenia Gravis) คือภาวะที่เปลือกตาหรือกล้ามเนื้อยึดลูกตาอ่อนแรงลง มีอาการหลัก ๆ คือ หนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น กล้ามเนื้อหนังตาย้อย มองเห็นเกิดภาพซ้อน โฟกัสภาพไม่ได้ มักเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่บริเวณรอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาและการผ่าตัด

3. ตาปรือข้างเดียวรักษาได้ไหม

การแก้ไขปัญหาตาปรือข้างเดียวสามารถแก้ไขได้ด้วยการทำตาข้างเดียว ทั้งนี้ควรให้แพทย์เป็นผู้ประเมินและวิเคราะห์ก่อนเข้ารับการรักษา

4. อาการตาปรือสามารถปล่อยทิ้งไว้ ไม่รักษาได้หรือไม่

หากปล่อยอาการตาปรือทิ้งไว้โดยไม่รักษาอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการมองเห็นลดลงได้ เนื่องจากหนังตาตกลงมาบังลูกตา นอกจากนี้ยังทำให้เกิดริ้วรอยบริเวณหน้าผากง่ายและไวกว่าปกติ เนื่องจากต้องเลิกหน้าผากเพื่อช่วยในการมองเห็นอยู่ตลอดเวลา

สรุป

ภาวะตาปรือเป็นอาการที่คล้ายคลึงกับโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง โดยจะมีลักษณะที่หนังตาตกลงมาปิดบังตาดำมากกว่าปกติ ทำให้ดวงตาดูไม่สดใส ดูตาปรือ ง่วงนอนตลอดเวลา ซึ่งวิธีแก้ตาปรือสามารถทำร่วมกับการศัลยกรรมตาสองชั้นได้ โดยจะเป็นการผ่าตัดกล้ามเนื้อตาเพื่อแก้ไขปัญหาตาปรือ สำหรับคนที่มีหนังตาเยอะและหย่อนสามารถตัดชั้นหนังตาร่วมด้วยได้ อย่างไรก็ตามก่อนเข้ารับการแก้ไขตาปรือควรให้แพทย์เป็นผู้ประเมินและวิเคราะห์ก่อน เพื่อแก้ปัญหาทีละส่วนและให้ผลลัพธ์ออกมาตรงตามความคาดหวัง

Reference

Ajmera R. (2023, February 20). Ptosis: Droopy Eyelid Causes and Treatment. Healthline. https://www.healthline.com/health/eyelid-drooping

Ptosis (Drooping Eyelid). (2019, March 18). Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/14418-ptosis-drooping-eyelid#:~:text=%E2%80%9CPtosis%E2%80%9D%20means%20drooping.,blepharoptosis%2C%20or%20upper%20eyelid%20ptosis.